Search


การค้าขายข้าวและการทำงานกับชาวต่างชาติ



โกดังสินค้าริมคลองบางหลวง(คลองบางกอกใหญ่) ฝั่งธนบุรี
(ภาพจากหนังสือชุมนุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. 2549. หน้า 188)


แต่เดิมมาการค้าขายทางเรือกับต่างประเทศ เป็นสิทธิเฉพาะของพระคลังสินค้า พระราชวงศานุวงศ์ เจ้านายและขุนนางเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง ระบบเศรษฐกิจได้เปลี่ยนจากระบบผูกขาดเป็นระบบการค้าเสรี (เพ็ญศรี ดุ๊ก การต่างประเทศกับเอกราช และอธิปไตยของไทย 2544 หน้า 7) ทรงอนุญาตให้ส่งข้าวเป็นสินค้าออกได้เป็นครั้งแรก ราษฎรจึงสามารถค้าขายข้าวได้โดยเสรี และทำงานกับคนต่างชาติได้ ทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการค้าขายกันอย่างกว้างขวาง (ประกาศเลขที่ 92, 95, 120) บางครั้งมีการส่งข้าวไปขายต่างประเทศมาก ราคาข้าว ภายในประเทศจึงแพง หรือในบางครั้งมีผู้ต้องการซื้อข้าวมาก ผู้ขายก็โก่งราคา ดังประกาศผู้มีข้าวอยากได้เงิน ผู้กลัวอดซื้อข้าวไว้ พระเจ้าแผ่นดินไม่ขัดข้อง โปรดให้ตามใจราษฎรจะซื้อขายกัน หรือในบางครั้งเกิดอุทกภัยน้ำท่วม ชาวนาปลูกข้าวได้น้อย ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น ในบางครั้ง พระองค์จึงทรงมีประกาศเตือนสติไม่ให้ผู้ขายกักตุนข้าว เพื่อโก่งราคา และทรงมีประกาศเตือนสติให้สงวนข้าวไว้ให้พอกิน โดยห้ามไม่ให้ส่งข้าว ไปขายต่างประเทศ (ประกาศเลขที่ 95, 243)