Search


 
ด้านการทหาร ตำรวจ

โอวาส เสวิกุล (๒๕๑๓. หน้า ๒๗๖-๒๘๒) และสุวรรณ เพชรนิล (๒๕๔๗. หน้า ๙๗) กล่าวว่า นอกจากทรงโปรดให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อความสะดวกทางคมนาคม และขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกแล้ว ยังเป็นคูเมืองชั้นนอกในการป้องกันอริราชศัตรู เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นแม่กองสร้างป้อมเรียงรายอยู่ตามคูเมืองชั้นนอก คือ ป้อมป้องปัจจามิตร ป้อมปิดปัจจนึก ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ ป้อมผลาญไพรีราบ ป้อมปราบศัตรูพ่าย ป้อมทำลายแรงปรปักษ์ ป้อมหักกำลังดัสกร และป้อมมหานครรักษา ภายหลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์ได้ไม่กี่ปี ก็ทรงโปรดให้จัดกองทัพ ฝึกทหารหัดแบบฝรั่ง ตั้งกรมทหารราบ กรมทหารปืนใหญ่ และพรรคนาวิกโยธิน (Marines) ขึ้นอย่างละกรม โปรดให้สร้างเรือใบเป็นเรือรบ และเรือค้าขายขึ้นหลายลำ ภายหลังมีเรือกลไฟ โปรดให้สร้างเรือสยามอรสุมพล ขึ้นเป็นลำแรก และเรือรบกลไฟมีนายทหารเรือและทหารปืนประจำ ตามธรรมเนียมเรือรบอย่างอังกฤษขึ้นไว้ สำหรับป้องกันพระราชอาณาเขต มีเรือสยามูปสดัมภ์ และเรือรุกรานไพรี เป็นต้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (๒๕๕๑. หน้า ๑-๒๑) ลำจุล ฮวบเจริญ (๒๕๕๐. หน้า ๒๘๐) จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย และคณะ (๒๕๕๑. หน้า ๑๐๔-๑๑๑) กล่าวว่า “...ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริปฎิรูปกิจการของตำรวจ เนื่องจากมีสถานการณ์ที่ทำให้พระองค์ต้องคิดปรับปรุงการป้องกันปราบปรามโจร ผู้ร้าย และรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งในพระนครและหัวเมืองให้ทันสมัย เนื่องจากการบีบบังคับจากอังกฤษและฝรั่งเศส กรณีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extra Territoriality) ทำให้คนในบังคับของประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา เดนมาร์ก โปรตุเกส ฯลฯ ได้สิทธิพิเศษไม่ต้องขึ้นศาลไทย ถือเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือน ต่อระบบงานยุติธรรมของไทยเป็นอย่างยิ่ง และเป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งกองตำรวจเช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์และอินเดีย ซึ่งได้จัดตั้งกิจการตำรวจขึ้นแบบเดียวกับอังกฤษ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ้างกัปตัน เอส เย เบิร์ด เอมส์ (Captain Samuel Joseph Bird Ames) เป็นผู้จัดตั้ง “กองโปลิสคอนสเตเปิล” ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ โดยจ้างชาวมลายูและชาวอินเดียเป็นพลตำรวจ เรียกว่า “คอนสเตเปิล” มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตราชธานี โดยให้อยู่ในสังกัดพระนครบาล ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในความเป็นปึกแผ่นของกิจการตำรวจสมัย”

กล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ไทยรอดพ้นจากวิกฤติการณ์การ คุกคามของชาติมหาอำนาจที่เข้ายึดครองดินแดน (การล่าอาณานิคม) ทั้งนี้เนื่องมาจากพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงใช้วิเทโศบายทำให้ชาติมหาอำนาจยอมรับนับถือสยามเฉกเช่นเดียวกับอารย ประเทศในขณะนั้น